สวัสดีครับ วันนี้ทีมโน๊ตบุ๊คโฟกัสจะเขียนแนะนำเกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ ซึ่งฮาร์ดิสก์กับโน๊ตบุ๊คเป็นของคู่กัน ถ้าโน๊ตบุ๊คไม่มีฮาร์ดิสก์ ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นโน๊ตบุ๊ค เพราะถ้าโน๊ตบุ๊คไม่มีฮาร์ดดิสก์จะทำให้โน๊ตบุ๊คไม่สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ภายในเครื่องได้ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์เอกสารต่างๆ, รูปภาพ, ไฟล์เพลง และ ไฟล์วีดีโอ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจการทำงานของฮาร์ดดิสก์มากนัก หรือต้องมีความจุของฮาร์ดดิสก์เท่าไหร่ ถึงจะเหมาะกับการใช้งานของตัวเอง เพราะยิ่งมีข้อมูลเยอะมากเท่าไหร่ โน๊ตบุ๊คก็ต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของท่านมากเท่านั้น และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ทีมงานโน๊ตบุ๊คโฟกัสจัดทำบทความเกี่ยวฮาร์ดิสก์ขึ้นมาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์มากยิ่งขึ้น ไปชมกันเลยดีกว่าครับ
เทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์

ด้านบน : ฮาร์ดดิสก์ แบบ IDE / ด้านล่าง : ฮาร์ดดิสก์ แบบ SATA
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเทคโนโลยีการพัฒนาของฮาร์ดดิสก์นั้นค่อนข้างจะช้า ไม่เหมือนอุปกรณ์อื่นๆ บนโน๊ตบุ๊ค แต่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางแบบก้าวกระโดด เช่นการพัฒนาจากอินเตอร์เฟสแบบ IDE มาเป็นแบบ SATA [Serial ATA] หรือจะเป็นการออกแบบให้ฮาร์ดดิสก์มีขนาดที่เล็กและเบาลง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีของฮาร์ดดิสก์สำหรับโน๊ตบุ๊คที่เห็นได้ชัดคงจะเป็นฮาร์ดดิสก์ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อแบบ SATA [Serial ATA] และ ฮาร์ดดิสก์ SSD [Solid State Drive] แต่ในปัจจุบันฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่คาดว่าในอนาคตฮาร์ดดิสก์แบบ SSD น่าจะเข้ามาแทนที่ฮาร์ดดิสก์ SATA ในปัจจุบัน เพราะฮาร์ดดิสก์แบบ SSD มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลรวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์รุ่น SATA อยู่พอสมควร แถมยังมีความบางเบากว่ารุ่มก่อนหน้านี้อีกด้วย
เทคโนโลยี ฮาร์ดดิสก์ แบบ Serial ATA
เป็นอินเทอร์เฟซที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน [Serial ATA] และอีกไม่นานจะพลัดใบเข้าสู่ความเป็น Serial ATA II ซึ่งเมื่อการเชื่อมต่อในลักษณะ Parallel ATA หรือ E-IDE [ฮาร์ดดิสก์รุ่นเก่า] เริ่มเจอทางตันในเรื่องของความเร็วที่พัฒนาอย่างไรก็ไม่ทัน SCSI ซะที และอีกสาเหตุมาจากสายแพแบบ Parallel ATA เพื่อการส่งผ่านข้อมูลนั้นมีขนาดความกว้างถึง 2 นิ้ว และเป็นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ตอนนี้อินเทอร์เฟซแบบ Parallel ATA ก็เริ่มเจอทางตันแล้วเหมือนกัน เมื่ออัตราความเร็วในปัจจุบันทำได้สูงสุดเพียงระดับ 133 เมกะไบต์ต่อวินาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิต Hard Disk (ฮาร์ดดิสก์) ต่างพากันหันมาให้ความสนใจเทคโนโลยีต่อเชื่อมรูปแบบแบบใหม่ที่เรียกว่า Serial ATA กันเป็นแถว โดยให้อัตราความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลขั้นแรกสูงสุดถึง 150 เมกะไบต์ต่อวินาที โดยเทคโนโลยี Serial ATA นี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มผู้พัฒนา Serial ATA ซึ่งได้เผยข้อกำหนดคุณสมบัติสำหรับ Serial ATA 1.0 ขึ้น ด้วยคาดหวังว่าจะสามารถ ขยายช่องสัญญาณ (Bandwidth) ในการส่งผ่านข้อมูลได้เพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่า และยังรองรับข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะ Hard Disk (ฮาร์ดดิสก์) เพียงเท่านั้นที่จะมีการเชื่อมต่อในรูปแบบนี้ แต่ยังรวมไปถึง อุปกรณ์ตัวอื่นๆ อย่าง CD-RW หรือ DVD อีกด้วย

และด้วยการพัฒนาของ Serial ATA นี้เอง ที่จะทำให้ลดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการส่งผ่านข้อมูลระหว่าง CPU ความเร็วสูงกับตัว Hard Disk (ฮาร์ดดิสก์) ลงได้ โดยสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วของระบบที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ Serial ATA จึงกลายเป็นความหวังใหม่ สำหรับการเพิ่มความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลของฮาร์ดไดรฟ์ (Hard Drive) ในอนาคต นอกจากนี้ Serial ATA ยังแตกต่างจากฮาร์ดไดรฟ์ที่ใช้อินเทอร์เฟซ Parallel ATA ซึ่งเป็นแบบขนานอย่างชัดเจน เพราะอินเทอร์เฟซ Serial ATA นี้ มีการกำหนดให้ฮาร์ดไดรฟ์ตัวไหนเป็น Master (ตัวหลัก) หรือ Slave (ตัวรอง) ผ่านช่องเชื่อมต่อบนเมนบอร์ดได้เลย ลดความยุ่งยากในการติดตั้งลงไปได้มาก อีกทั้ง Hard Disk (ฮาร์ดดิสก์) ประเภทนี้บางตัวยังรองรับการถอดสับเปลี่ยนโดยทันที (Hot Swap) ทำให้การเชื่อมต่อในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เทคโนโลยี ฮาร์ดดิสก์ แบบ SSD

ภาพตัวอย่าง ฮาร์ดดิสก์ แบบ SSD [Solid State Drive]
หลังจากที่แนะนำเทคโนโลยีของฮาร์ดดิสก์กันไปแล้ว ในส่วนต่อมาทีมงานโน๊ตบุ๊คโฟกัสจะพาท่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับการทำงานของฮาร์ดดิสก์แบบ SSD [Solid State Drive] เป็นเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์รุ่นใหม่ และโน๊ตบุ๊ตรุ่นใหม่ๆ เริ่มจะนำมาใช้กันแพร่หลายมากขึ้น เพราะด้วยความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล และมีขนาดเล็ก บาง และ เบา ซึ่งจุดเด่นของฮาร์ดดิสก์แบบ SSD จะอยู่ที่การนำหน่วยความจำแบบ NAND Flash ซึ่งหน่วยความจำแบบเดียวกับแฟรชไดร์นั่นเอง ที่ฮาร์ดดิสก์แบบ SSD นำมาใช้ในการผลิต และเมื่อผลิตออกมาแล้วสิ่งที่ได้จากฮาร์ดดิสก์แบบ SSD คือ ฮาร์ดดิสก์สามารถทำความเร็วในการอ่านข้อมูลและเขียนข้อมูลได้เหนือกว่าฮาร์ดิสก์รุ่น SATA เพราะฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ไม่มีส่วนประกอบสิ่งใดที่ต้องเคลื่อนไหวภายใน [ซึ่งถ้าเป็นฮาร์ดดิสก์ทั่วไป จะต้องมีมอเตอร์สำหรับการอ่านหรือเขียนข้อมูล] และยังทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ภายในเครื่องปลอดภัยมากกว่าเดิมอีกด้วย นอกจากนี้ฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ยังใช้พอร์ตเชื่อมต่อแบบ SATA [Serial ATA] ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถนำฮาร์ดดิสก์ SSD มาติดตั้งในเครื่องแทนฮาร์ดดิสก์ตัวเก่าได้เลย ขอเพียงเป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นที่รองรับฮาร์ดดิสก์แบบ SATA ก็พอ ซึ่งในปัจจุบันโน๊ตบุ๊คคงรองรับหมดแล้ว อย่างไรก็ตามใช้ว่าฮาร์ดดิสก์แบบ SSD จะไม่มีขอเสียเลย อันดับแรกเลยคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของราคาที่ยังสูงอยู่พอสมควร ยิ่งฮาร์ดดิสก์มีความจุมาก ราคาก็ยิ่งสูงตามขึ้นไปด้วย ถึงแม้ฮาร์ดดิสก์แบบ SSD จะประหยัดไฟ หรือมีรูปทรงบางเบา รวมไปถึงข้อมูลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูง อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงคนที่ไม่ขัดสนเงินทอง ฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ก็น่าสนไม่น้อยเลยทีเดียว
ความเร็วของฮาร์ดดิสก์

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าส่วนประกอบของฮาร์ดดิสก์จะประกอบไปด้วยหัวอ่านและแผ่นดิสก์ โดยการทำงานคือหัวอ่านจะหมุนรอบแผ่นดิสก์ไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาไฟล์ที่เราต้องการใช้งาน ซึ่งความเร็วรอบของฮาร์ดดิสก์ก็คือ ความเร็วรอบการหมุนของฮาร์ดดิสก์ภายในเวลา 1 นาที ยิ่งฮาร์ดดิสก์มีความเร็วรอบบสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ มากเท่านั้น สำหรับความเร็วของฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบันนี้คงจะอยู่ที่ 5,400 rpm [ต่อนาที] แต่ก็มีความเร็ว 7,200 rpm ออกมาให้เห็นบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่อีกไม่นานก็คงจะได้รับความนิยมอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีฮาร์ดดิสก์ยิ่งมีความเร็วสูงเท่าไหร่ก็จะส่งผลให้มีอัตราการกินไฟที่มากขึ้น และทำให้มีความร้อนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ท่านผู้อ่านควรจะไตร่ตรองและตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อฮาร์ดดิสก์ให้เหมาะกับการใช้งานกับตัวเองมากที่สุดนั่นเอง
เทคโนโลยีการป้องกันข้อมูลสูญหาย

เป็นเทคโนโลยีแบบพิเศษมักจะพบในโน๊ตบุ๊คตั้งแต่ ระดับกลาง ไปจนถึง ระดับสูง บางยี่ห้อ โดยการทำงานของเทคโนโลยีนี้ คือ จะช่วยเก็บหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ทันทีที่เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรวจพบว่าโน๊ตบุ๊คมีแนวโน้มที่จะตกหล่นลงมากระแทกพื้น เพื่อให้ช่วยปกป้องข้อมูลที่อาจจะสูญเสียไปได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกเรียกว่า 3D Shock Sensor [เทคโนโลยีนี้จะอยู่ในฮาร์ดดิสก์แบบ SATA เฉพาะรุ่น ก่อนซื้อต้องสอบถามให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเทคโนโลยี 3D Shock Sensor] เวลาใช้งานโดยทั่วไปหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ก็จะทำงานปกติ แต่เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบความผิดปกติของการตกหล่นลงกระแทก ฮาร์ดดิสก์จะหลุดการทำงานทันที และหุบหัวอ่านออกจากแผ่นดิสก์ ไปยังที่ปลอดภัยทันที และเมื่อโน๊ตบุ๊คตกกระแทกพื้น หัวอ่านและแผ่นดิสก์จะไม่ได้รับอันตรายใดๆ จากการกระแทกครั้งนั้น เรียกได้ว่าช่วยลดความเสียหายของข้อมูลที่จะเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจนั่นเอง
ความจุเท่าไหร่ถึงจะเหมาะกับการใช้งานของคุณ

ตารางตัวอย่าง การจัดเก็บข้อมูล ประมาณ 80-100GB

ตารางตัวอย่าง การจัดเก็บข้อมูล ประมาณ 210-250GB
เป็นคำถามโลกแตกอีกคำถามนึง ที่ไม่รู้ว่าควรจะซื้อโน๊ตบุ๊คที่มีความจุของฮาร์ดดิสก์เท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อการใช้งานของแต่ละคน เพราะการใช้งานของแต่ละคนมักจะไม่เหมือนกัน และยิ่งเป็นฮาร์ดดิสก์ด้วยแล้วก็สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เลย อย่างไรก็ตาม อันดับแรกท่านผู้อ่านควรจะมองความต้องการหรือการใช้งานของตัวเองก่อนว่า ตัวเองมีลักษณะการใช้งานแบบไหน เพราะบางคนอาจจะใช้งานแค่พื้นฐานทั่วไป ไม่ได้เก็บไฟล์อะไรมากมายนัก จึงไม่ทำให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลของฮาร์ดดิสก์เต็มเร็วง่ายๆ เป็นแน่ แต่บางคนอาจจะมีเอกสารไฟล์ที่เพิ่มมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ ถ้าเลือกฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุน้อยเกินไป ใช้งานไปได้สักพักพื่นที่จัดเก็บก็เต็มอยู่ดี ทางทีมงานโน๊ตบุ๊คโฟกัสจึงอยากให้ท่านผู้อ่านมองลักษณะการใช้งานของตัวเองเป็นอันดับแรกนั่นเอง
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับบทความแนะนำฮาร์ดดิสก์ พอจะเลือกกันได้รึยังครับ ว่าฮาร์ดดิสก์แบบไหนเหมาะกับตัวคุณมากที่สุด อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการเลือกฮาร์ดดิสก์นั้น ต้องคำนึงการใช้งานของคุณเป็นหลัก เพราะแต่ละคนจะใช้งานไม่เหมือนกัน บางท่านอาจจะเก็บข้อมูลไม่มากนัก จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุมากเกินไป เพราะฮาร์ดดิสกก์ความจุเยอะก็ยิ่งมีราคาสูง ตรงจุดนี้หายห่วงสำหรับท่านที่ใช้ความจุไม่มากนักก็ช่วยประหยัดในส่วนนี้ไปได้ แต่สำหรับท่านผู้อ่านที่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ความจุที่มาก สำหรับการจัดเก็บข้อมูลสำคัญ ก็ต้องยอมแลกกับราคาที่สูงตามความจุของฮาร์ดดิสก์ และยิ่งสำหรับข้อมูลสำคัญ ทางทีมงานโน๊ตบุ๊คโฟกัส ขอแนะให้ใช้ฮาร์ดดิสก์ที่มีระบบการป้องกันข้อมูลสูญหาย [3D Shock Sensor] เพื่อช่วยปกป้องข้อมูลที่สำคัญของท่านนั่นเอง สำหรับบทความแนะนำการเลือกซื้อฮาร์ดดิสก์ก็มาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ก็ต้องขอกล่าวขอบคุณที่ติดตามอ่านกันจนจบนะครับ ทางทีมงานโน๊ตบุ๊คโฟกัสหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย สุดท้ายนี้ ต้องลาไปก่อน พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ